ภูมิปัญญาชาวบ้าน


         ภูมิปัญญาชาวบ้าน หมายถึง ความรู้ของชาวบ้าน ที่สร้างขึ้นจากประสบการณ์ และความเฉลียวฉลาดของแต่ละคน ซึ่งได้เรียนรู้มาจากพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้อง และผู้มีความรู้ในชุมชน  ความรู้เหล่านี้เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต เป็นแนวทาง หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว ความสัมพันธ์กับคนอื่น ความสัมพันธ์กับผู้ล่วงลับไปแล้ว กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และกับธรรมชาติ  ภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นความรู้ที่มีคุณธรรม สอนให้คนเคารพผู้อื่นเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เคารพธรรมชาติ พึ่งพาอาศัยธรรมชาติโดยไม่ทำลาย 

ความเชื่อเรื่องผี มีความหมายถึงกฎเกณฑ์ที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดมาการ ละเมิดกฎเกณฑ์นั้นจึงเรียกว่า ผิดผี ต้องมีการขอขมา และมีการลงโทษโดยคนเฒ่าคนแก่ซึ่งเป็นตัวแทนของบรรพบุรุษเป็นผู้แนะนำและดำเนินการเช่น ประเพณีสอนให้คนหนุ่มสาวที่ยังไม่แต่งงานไม่ให้ถูก เนื้อต้องตัวกันเป็นการป้องกันมิให้กระทำเกินกว่าสมควร ถ้าหากใครทำผิด ก็เรียกว่า ผิดผี ต้องมีการ "เสียผี" คือ มีการชดใช้การกระทำผิดนั้น

ภูมิปัญญาชาวบ้านยังมีเรื่องประเพณี ต่างๆ ซึ่งทำให้ชุมชนร่วมใจกันทำกิจกรรมที่เป็นการรื้อฟื้นแนวทางในการดำเนินชีวิต เช่น งานบุญ ตามเทศกาล งานพิธีการเกิด การสู่ขวัญ การแต่งงาน และงานศพ เป็นต้น

ความรู้ในเรื่องการทำมาหากินมีอยู่มาก เช่น การทำนาทำไร่ การปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ การจับปลา จับสัตว์ การทำเครื่องมือทางการเกษตรการทำเครื่องใช้

การจักสานด้วยไม้ไผ่หรือด้วยหวาย การทอผ้า ทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม ซึ่งมีลวดลายที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อและความคิดของชาวบ้าน การทำเครื่องปั้นดิน เผา การแกะสลักไม้และหิน ซึ่งจะพบเห็นได้จากโบราณสถานและในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ  นอกจากนั้น ยังมีการรักษาโรคแบบพื้นบ้าน จะด้วยวิธีการทางไสยศาสตร์ การใช้สมุนไพร การนวด และวิธีการอื่นๆ
ภูมิปัญญาชาวบ้านยังมีอยู่ในหมู่บ้านในชนบท แม้ว่าบางส่วนจะหายไปเลิกไปหรือถูกปรับเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น หลายแห่งมีวิธีการใช้ความรู้เหล่านี้ให้เกิด ประโยชน์ ซึ่งมีวิธีการต่างๆ ที่ใช้ คือ

การอนุรักษ์ คือ การรักษาความรู้ที่ดีงาม เช่น ประเพณีต่างๆ หัตถกรรม และคุณค่าหรือการปฏิบัติตนเพื่อความสัมพันธ์อันดีกับคนและสิ่งแวดล้อม
การฟื้นฟู คือ การรื้อฟื้นความรู้ที่ดีงามต่างๆ ที่สูญหายไป เลิกไป หรือเปลี่ยนไป ให้กลับมาเพื่อยังประโยชน์ให้ผู้คนสมัยนี้ เช่น การฟื้นฟูดนตรีไทย การฟื้นการเกษตรผสมผสาน ซึ่งปู่ย่าตายายเคยทำมาก่อนการฟื้นประเพณีการผูกเสี่ยว หรือการผูกมิตรในภาคอีสาน เพื่อทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้าน หรือชาวบ้านกับข้าราชการ
การประยุกต์ คือ การปรับความรู้เก่ากับความรู้ใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับสังคมที่เปลี่ยนไป เช่น การประยุกต์การบวชมาเป็นการบวชต้นไม้ เพื่อให้เกิดสำนึกการอนุรักษ์ธรรมชาติ รักษาป่ามากยิ่งขึ้นการประยุกต์ประเพณีการทำบุญข้าวเปลือกที่วัด มาเป็นการสร้างธนาคารข้าวเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ขาดแคลน การประยุกต์ดนตรีไทยกับดนตรีสมัยใหม่ หรือการร้องรำต่างๆ
  การสร้างใหม่คือ การคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ที่สัมพันธ์กับความรู้ดั้งเดิม เช่น การประดิษฐ์โปงลาง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งในภาคอีสาน มีลักษณะคล้ายกับระนาด แต่แตกต่างทั้งรูปแบบและเสียง การคิดโครงการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน โดยอาศัยคุณค่าความเอื้ออาทรที่ชาวบ้านเคยมีต่อกัน มาหารูปแบบใหม่ เช่น การสร้างธนาคารข้าว ธนาคารโคกระบือ การรวมกลุ่มแม่บ้าน เยาวชน เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น